วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2554

วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2554

รู้ทันโรคทางเดินปัสสาวะส่วนล่างในแมว

FLUTD : Feline Lower Urinary Tract Disease : โรคทางเดินปัสสาวะส่วนล่างในแมว

โรคทางเดินปัสสาวะส่วนล่างในแมวหรือ FLUTD ประกอบด้วยกลุ่มอาการต่างๆซึ่งส่วนใหญ่ก่อให้เกิดการอักเสบของทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง แมวป่วยมักแสดงอาการเหมือนกระเพาะปัสสาวะอักเสบในคน เช่นการมีเลือดในปัสสาวะ อาการปัสสาวะไม่ออกหรือลำบาก

ในแมวบางตัว การเกิดผลึกนิ่วในทางเดินปัสสาวะส่วนล่างสามารถทำให้เกิดการอุดตันทางเดินปัสสาวะได้ ซึ่งพบได้บ่อยในแมวเพศผู้เนื่องจาก ท่อปัสสาวะของแมวเพศผู้แคบกว่าท่อปัสสาวะของแมวเพศเมีย ในแมวที่ไม่สามารถถ่ายปัสสาวะได้ สามารถเสียชีวิตได้ภายใน 2-4 วัน เนื่องจากกรณีที่มีการอุดตันของท่อปัสสาวะนั้นจะทำให้น้ำปัสสาวะไหลย้อนกลับขึ้นไปทำลายไต และทำให้เกิดไตวายตามมาได้




สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง

ไม่มีสาเหตุที่แน่นอนของโรคทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง แต่จากการศึกษาพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงดังนี้
อาหาร : ระดับแร่ธาตุบางชนิดที่สูงเกินไปจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดผลึกนิ่วในปัสสาวะ

แร่ธาตุแมกนีเซียมและฟอสฟอรัส เป็นส่วนประกอบสำคัญของในนิ่วสตรูไวท์ (struvite)
ซึ่งเป็นนิ่วที่พบได้บ่อย ดังนั้นจึงควรีการควบคุมปริมาณแร่ธาตุเหล่านี้ในอาหารให้มีปริมาณน้อย
นอกจากนี้อาหารแมวยังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรด-ด่างในปัสสาวะ
ซึ่งนิ่วแต่ล่ะชนิดจะมีการก่อตัวในสภาพความเป็นกรด-ด่างที่แตกต่างกัน
 เช่นนิ่วสตรูไวท์จะก่อตัวในปัสสาวะที่เป็นด่าง ในขณะที่นิ่วแคลเซี่ยมออกซาเลท
(calcium oxalate) จะก่อตัวได้ดีในปัสสาวะที่เป็นกรด
ดังนั้นการให้อาหารที่ปรับสมดุลความเป็นกรด-ด่างของปัสสาวะได้เหมาะสม
ก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดผลึกนิ่ว

พฤติกรรม : การขาดการออกกำลังกาย การถูกกักขัง การกินน้ำน้อย การอั้นปัสสาวะ
เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง

สภาพร่างกาย : แมวที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนเนื่องจากอาหารและปัจจัยแวดล้อม
มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง

เพศ : แมวทั้งเพศผู้และเพศเมียมีความเสี่ยงในการเกิดโรคทางเดินปัสสาวะส่วนล่างเท่าๆกัน
แต่แมวเพศผู้มีความเสี่ยงในการเกิดการอุดตันมากกว่าแมวเพศเมีย
เนื่องจากลักษณะทางกายภาพของท่อทางเดินปัสสาวะที่เล็กกว่าแมวเพศเมีย
ความเครียด : การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม หรือการมีสัตว์เลี้ยงตัวใหม่

*** จากการศึกษาในปัจจุบันพบว่าการทำหมันแมวเพศผู้ตั้งแต่อายุน้อย
 ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่วหรือปัญหาท่อทางเดินปัสสาวะส่วนล่างอุดตันแต่อย่างใด ***

อาการของแมวที่เป็นโรคทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง
ปัสสาวะบ่อย แต่ปริมาณน้อย
ปัสสาวะผิดที่ หรือปัสสาวะนอกกระบะทราย
มีเลือดในปัสสาวะ
เลียที่อวัยวะเพศบ่อยๆ โดยเฉพาะในแมวตัวผู้
แสดงอาการเจ็บปวด หรือเกร็งเวลาถ่ายปัสสาวะ

*** ในแมวที่ไม่สามรถถ่ายปัสสาวะได้ เนื่องจากเกิดการอุดตันทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง
 จำเป็นต้องได้รับการรักษาทันที เพราะเป็นปัญหาที่อันตรายถึงชีวิต ***







การวินิจฉัยโรคทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง
จากประวัติและอาการ : ปัสสาวะเป็นเลือด หรือปัสสาวะไม่ออก
จากการตรวจร่างกาย : เจ็บเกร็งเมื่อคลำช่องท้อง พบกระเพาะปัสสาวะมีขนาดใหญ่ในรายที่การอุดตันทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง
การตรวจวิเคาะห์ปัสสาวะเพื่อดูผลึกที่ละลายอยู่ในปัสสาวะ (เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการระบุชนิดของนิ่ว)
การ x-ray หรือ ultrasound ช่องท้อง เพื่อดูก้อนนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ อาจพบหรือไม่พบก้อนนิ่วก้ได้ เนื่องจากก้อนนิ่วมีหลายชนิด มีทั้งแบบที่มองเห็นและมองไม่เห็น

*** ก้อนนิ่วที่ผ่าตัดเอาออกมาจากกระเพาะปัสสาวะ ไม่สามารถที่จะระบุชนิดของนิ่วจากรูปร่างของก้อนนิ่วได้ เนื่องจากก้อนนิ่วที่จับตัวเป็นก้อนนั้นมีแร่ธาตุหลายอย่างผสมกันอยู่ การจะระบุชนิดของนิ่วจากก้อนนิ่วที่ผ่าออกมานั้นปัจจุบันสามารถตรวจได้เพียงที่เดียวคือที่ Minnesota Urolith Center ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา (สอบถามรายละเอียดการส่งตรวจก้อนนิ่วเพื่อระบุชนิดนิ่วได้ที่สถานพยาบาลสัตว์ที่รักษาอยู่ โดยเป็นการส่งผ่านบริษัท เวท เรคคอมเมนด์ จำกัด : VET. RECOMMENDED CO., LTD. ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายอาหารของ Hill's)







ลักษณะของผลึกนิ่วในปัสสาวะ (Crystal Identification)

ลักษณะของก้อนนิ่วที่ผ่าออกจากกระเพาะปัสสาวะ (Urolith Identification)











การรักษาโรคทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง

ขึ้นอยู่กับอาการ ลักษณะของปัญหา การอุดตัน และชนิดของก้อนนิ่ว

การรักษาทางยา :
หรือกลุ่มยาที่มีฤทธิ์ขยายท่อปัสสาวะและช่วยละลายนิ่ว
การปรับสมดุลกรดด่างของปัสสาวะ เพื่อให้นิ่วละลาย (ต้องทราบชนิดของนิ่วที่เป็นก่อน)


การสอดท่อปัสสาวะในรายที่มีการอุดตัน

การให้สารน้ำ เพื่อแก้ไขภาวะขาดน้ำ และ

กรณีมีก้อนนิ่ว ขึ้นอยู่กับชนิดของนิ่วว่าจะผ่าตัด รักษาด้วยยา หรืออาหารสัตว์ป่วยเฉพาะโรค
การผ่าตัดแปลงเพศในแมวเพศผู้ที่เกิดการอุดตันท่อทางเดินปัสสาวะส่วนล่างแบบแก้ไขไม่ได้


การดูแลระยะยาว
เลือกใช้อาหารสัตว์ป่วยเฉพาะโรคที่เหมาะสมกับปัญหาที่เป็น
ไม่ให้แมวกินของขบเคี้ยว อาหารปรุงเอง หรือวิตามินอาหารเสริมเองโดยเด็ดขาด
จัดหาน้ำดื่มที่สะอาดให้แมว หากจำเป็นอาจต้องบังคับป้อนน้ำให้แมวเป็นระยะ
หมั่นดูแลกระบะทราย ดูการขับถ่ายของแมวเป็นประจำ
เมื่อแมวเริ่มแสดงอาการผิดปกติเกี่ยวกับปัญหาทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง
รีบพาไปพบสัตวแพทย์ทันที



ข้อแนะนำในการให้อาหารสัตว์ป่วยเฉพาะโรค

อาการเบื่ออาหารหรือปฏิเสธอาหารสัตว์ป่วยเฉพาะโรคอาจพบได้ในแมวหลายๆตัว
 หากแมวของท่านปฏิเสธการกินอาหารให้ลองปฏิบัติดังนี้
เปลี่ยนแปลงอาหารอย่างช้าๆ โดยเริ่มจากการผสอาหารใหม่กับอาหารเก่า
 และค่อยๆเพิ่มสัดส่วนอาหารใหม่ทุกๆวันทีละน้อย จนกระทั่งเปลี่ยนเป็นอาหารใหม่ 100%
หากเป็นอาหารเปียกสามารถอุ่นอาหาร ให้อุ่นๆ เพื่อเพิ่มความน่ากินของอาหาร
ระวังอย่าให้อุณหภูมิสูงเกินไป
หากแมวของท่านไม่ยอมกินอาหารเกินกว่า 48 ชั่วโมง รีบปรึกษาสัตวแพทย์ทันที

*** ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องใช้วิธีการบังคับป้อนอาหาร
 โดยใช้อาหารผสมน้ำและปั่นให้ละเอียด และบังคับป้อนด้วย Syringe
หรืออาจผสมอาหารที่แมวชอบ แต่ต้องเป็นอาหารที่ไม่ปรุงรสลงไปในอาหารสัตว์ป่วย
โดยอัตราส่วนไม่เกิน 10% ของปริมาณอาหารสัตว์ป่วยที่ต้องกิน
 เพื่อเพิ่มความน่ากินของอาหาร
(อาหารสัตว์ป่วยเฉพาะโรคต่อให้ดีเลิศแค่ไหนก็ตาม ถ้าไม่สามารถทำให้สัตว์กินได้ก้ไม่มีประโยชน์)




อ้างอิงจาก
Handbook of CAT HEALTH ของบริษัท Pfizer)
The 5-Minute Veterinary Consult: Canine and Feline
เอกสารเรื่องโรคทางเดินปัสสาวะส่วนล่างในแมว ของบริษัทเวท เรคคอมเมนด์ จำกัด
คู่มือ Managing Crystalluria and Urolithiasis Feline & Canine ของบริษัท Hill's
เรียบเรียงใหม่โดย น.สพ.กิติกร เกียรติยิ่งอังศุลี webmaster :
click2vet.com
การบรรเทาตามอาการอื่นๆ
ยาปฏิชีวนะในรายที่มีการติดเชื้อ ยาขับปัสสาวะ

วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ยาสามัญประจำบ้านแมว

1. น้ำเกลือล้างแผล
ใช้ NSS (Normal Saline Solution) ใช้ล้างทำความสะอาดแผลกรณีที่แผลสกปรกมีฝุ่นหรือดินติดมากๆ ที่ใช้ NSS เนื่องจากใช้แล้วไม่ค่อยแสบครับ

ปล.น้ำเกลือมีหลายประเถทครับ แต่ที่ใช้ล้างแผลคือ NSS นะครับ


2. ปลอกคอ (collar)
ควรมีขนาดที่พอดีกับเจ้านายที่บ้านไว้สัก 1 อัน เวลาเกิดแผลขึ้นมา ใส่ไว้ก่อน ป้องกันการทำร้ายตัวเอง (การเกาบริเวณใบหน้า และการเลียแผลบริเวณส่วนท้ายลำตัว)

อันนี้สำคัญนะครับ บางครั้งเจ้านายที่บ้านเริ่มเป็นแค่แผลเพียงเล็กๆ แต่ถ้าเลียหรือเกามากๆแผลจะอักเสบติดเชื้อและแผลใหญ่ขึ้นมากกว่าเดิมมากเลยครับ


3.กลุ่มยาล้างทำความสะอาดแผล
3.1 แอลกอฮอล์
ใช้เช็ดรอบๆแผลนะครับ ไม่ใช้เช็ดที่แผลโดยตรง เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์กัดเนื้อเยื่ออ่อน สังเกตุง่ายๆครับ เวลาเราเป็นแผลแล้วเช็ดแอลกอฮอล์ที่แผลเราจะแสบครับ เจ้านายที่บ้านก็แสบเหมือนกัน

ปล. สินค้าหรือยามันมีหลากหลายยี่ห้อนะครับเลือกใช้ตามความสะดวกของทาสแมวครับ รูปที่มาโพสแค่ถ่ายของที่อยู่ใกล้ๆตัวมาให้ดูก่อนเท่านั้นเองครับ


3.2 ไฮโดรเจน เพอร์ออกไซด์
ยาล้างแผลตัวนี้ เวลาใช้ทาไปที่แผลจะเป็นฟองขาวๆฟู่ๆ

ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ ที่ขายกันมีอยู่ 2 ความเข้มข้นครับ คือ 3% และ 6% ดูที่ข้างขวด (ตัวอย่างในรูป คำว่า 3% จะอยู่เหนือราคา 30 บาทที่ขวดน่ะครับ)

3% นำมาล้างแผลได้เลย
6% ต้องเจือจางผสมน้ำ ในอัตราส่วน 1:1 ก่อน


ไฮโดรเจน เพอร์ออกไซด์ ใช้ล้างแผลที่มีคราบเลือดคราบหนองมากๆ ครับ จะช่วยล้างเลือดและหนองที่แห้งกรังบนแผลได้ดีทีเดียว ล้างแผลให้สะอาดก่อนแล้วค่อยแต้มยาตัวอื่นต่อไป


ปล.กรณีเลือดเลอะที่เสื้อผ้า ใช้ ไฮโดรเจน เพอร์ออกไซด์ แต้มบริเวณที่เลอะ และค่อยเอาไปซัก ก็ได้ครับ


3.3 โปรวิโดนไอโอดีน หรือที่ทาสแมวชาวไทยรู้จักกันในยี่ห้อ เบตาดีน

เมื่อล้างแผลสะอาดแล้วเวลาแต้มยาก็ใช้ เบตาดีนแต้มนี่ล่ะครับ (เนื่องจากเบตาดีนออกฤทธิ์ได้ไม่ดีเมื่อมีคราบหนองหรือเลือดอยู่ ดังนั้นก่อนแต้มควรล้างแผลให้สะอาดก่อนนะครับ)

นอกจากนี้ตัวเบตาดีน ก็นำมาใช้ล้างแผลได้ด้วยนะครับ ผสมเจอจางกับน้ำ อัตราส่วนคงประมาณ 1/10 ถึง 1/20 เอาว่าสีของน้ำที่ผสม สีออกมาเหมือนชาดำเย็นน่ะครับ---> ใช้ล้างแผลได้ด้วย ไม่แสบมากนัก


4. อุปกรณีที่ใช้ประกอบการล้างแผล

ผ้ากอส
ใช้เช็ด หรือขัดแผลได้ดีครับ เนื่องจากลักษณะของผ้าจะสากๆ ใช้ขัดแผลดีทีเดียว

สำลี---> หลังจากทำความสะอาดแผลเสร็จเวลาแต้มยาก็ใช้สำลีชุบยาไปแต้มที่แผลครับ

cotton bud หรือ ไม้สำลีแคะหู ---> ก็ใช้ในการล้างแผลได้ด้วยกรณีที่ปากแผลไม่กว้างแต่ ข้างในเป็นโพรง เอา cotton bud จุ่มน้ำยาทำความสะอาดแผลแล้วก็แยงเข้าไปเช็ดข้างในได้ครับ

หลอดฉีดยา (syringe)

มีติดตัวไว้ไม่เสียหาย นอกจากใช้ในการป้อนยา ฉีดยาแล้ว ใช้ในการล้างแผลได้ด้วย กรณีแผลโดนกัดที่แผลภายนอกเป็นรูเล็กๆแต่ข้างในเป็นโพรง ถ้าหมอไม่ได้กรีดขยายปากแผล---> ก็ใช้ syringe ดูดยาล้างแผล แล้วก็ฉีดเข้าไปทางปากแผล บีบให้ยาล้างแผลออกมา แล้วก็ทำซ้ำหลายๆรอบก็ เป็นการล้างแผลอีกวิธีนึงครับ

เรื่องการถูกน้ำร้อนลวก หรือแผลไฟลวก
ป้องกันไว้ดีที่สุดครับ แต่แมวบางตัวซนนะครับ กระโดดขึ้นไปเหยียบเตาไฟ บ้าง เอาหน้าไปดูใกล้ๆเตาอบบ้าง ฯลฯ


กรณีปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนไปหาหมอ ก็เป็นพวกครีมรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกครับ + ควรใส่ collar ด้วยครับ ป้องกันการเลียแผลและป้องกันการเลียยาที่เราทาแผล ยาที่ใช้ทาภายนอกห้ามรับประทานครับ


เรื่องบาดแผลในช่องปาก

ยาสามัญประจำบ้านที่ใช้ได้ก็คือ Gentian Violet หรือยาม่วงที่เราเรียกๆกันนั้นเอง

สามารถใช้ทาในปากได้ครับ แต่เจ้านายบางตัวเวลาโดนทาอาจจะทำน้ลายไหลย้อย หรือน้ำลายเป็นฟองก็ได้นะครับ คิดดูล่ะกันเมื่อเจ้านายสะบัดหัวเมื่อไหร่ ทาสแมวเตรียมหลบกันได้เลยครับ

กรณีกินสารพิษเข้าไป

อันนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของสารพิษครับ สารบางอย่างควรกระตุ้นให้อาเจียน สารบางอย่างห้ามทำให้อาเจียน ดีที่สุด เอาฉลากของสารพิษที่เราสงสัยไปด้วย และรีบพาไปหาหมอเร็วที่สุด


ถ้าเป็นการปฐมพยาบาลแบบชาวบ้านก็เช่นการป้อนนม น้ำมันพืช หรือไข่ขาว เพื่อช่วยลดการดูดซึมของสารพิษ แต่ค่อนข้างอันตรายนะครับ ถ้าป้อนแล้วเค้าสำลัก อาจทำให้ถึงตายได้ครับ


ยาที่คิดว่า OK และน่าจะมีติดกระเป๋าพยาบาลไว้ คือเม็ดคาร์บอนครับ


เม็ดคาร์บอน จะเป็นเม็ดสีดำๆ (ที่เราใช้กินเวลาท้องเสียน่ะครับ) มีหลายยี่ห้อแตกต่างตามคุณภาพครับ เวลาซื้อปรึกษา เภสัชก่อนล่ะกันครับเอาชนิดที่คุณภาพดีๆหน่อย


ที่แนะนำเม็ดคาร์บอนเพราะไม่ใช่ตัวยา หรือสารออกฤทธิ์ ครับ เม็คาร์บอนแค่ดูดซับสารพิษ แล้วให้สัตว์ขับออกทางอึเท่านั้น ดังนั้นกรณีสงสัยสัตว์กินสารพิษเข้าไป ป้อนเม็ดคาร์บอนเพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนได้ครับ แล้วรีบพาไปหาหมอให้เร็วที่สุด


อีกอย่างนึงที่ควรมีติดกระเป๋าพยาบาลไว้ คือ

ผงเกลือแร่ (ORS) ---> ที่เอาไว้ชงกินเวลาท้องเสียน่ะครับ

กรณีเจ้านายถ่ายเหลว หรือท้องเสีย แล้วยังไม่สามารถพาไปหาหมอได้ ที่โดยมากหมอมักแนะนำให้ชงน้ำหวานผสมเกลือป้อนให้เจ้านายนั่นล่ะครับ

เจ้าผง ORS เนี่ยส่วนผสมก็คือน้ำตาล และเกลือแร่นั่นเอง

ก็ชงตามอัตราส่วนและค่อยๆป้อนเรื่อยๆนะครับ เพื่อป้องการการขาดน้ำรุนแรง จนเจ้านายที่บ้านช๊อค


ย้ำเช่นเคยน่ะครับว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเจ้านายคือการรีบพาไปหาหมอนะครับ
แต่ถ้าเจ้านาย อาเจียนหนัก ป้อนน้ำเกลือแร่แล้วยังอาเจียน ให้หยุดป้อนนะครับ เพราะยิ่งป้อนจะยิ่งไปกระตุ้นการอาเจียน พออาเจียนมากๆเข้าจะยิ่งเพลียกว่าเดิมมากครับ กรณีนี้พาไปหาหมอด่วนที่สุด ต้องให้น้ำเกลือแทนครับ(เข้าเส้น หรือใต้ผิวหนัง แล้วแต่ความรุนแรงของอาการ)


ปล.เน้นเรื่องยาพาราอีกที
ยาพาราเซตามอล ไม่ใช้ยาลดไข้สำหรับแมวแต่เป็นยาพิษครับ ห้ามป้อนให้แมวโดยเด็ดขาด


รูปข้างล่างเป็นแมวที่เจ้าของป้อนยาพาราให้กิน ผิวหนังและเหงือกกลายเป็นสีเหลืองเนื่องจากตับวาย + กับฉี่ออกมาเป็นเลือดเนื่องจากไตวาย



ที่มาจาก : http://www.click2vet.com/ น.สพ.กิติกร เกียรติยิ่งอังศุลี

มารู้จักพยาธิเม็ดเลือดในแมว : Hemobartonellosis

พยาธิเม็ดเลือดในแมว : Hemobartonellosis หรือ Feline Infectious Anemia หรือ Mycoplasma haemofelis
    เกิดจากเชื้อ Hemobartonella feris ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า  Mycoplasma haemofelis เดิมเข้าใจว่าเป็นกลุ่มริกเก็ตเซียปัจจุบันถูกจัดเป็นเชื้อแบคทีเรีย    เชื้อจะเกาะอยู่บนผิวของเม็ดเลือดแดงที่โตเต็มวัย  เมื่อระบบภูมิต้านทานของร่างกายตรวจพบเชื้อนี้ จะมีการทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ติดเชื้อนี้ที่ม้าม  การติดต่อของเชื้อเกิดได้จากการได้รับการถ่ายเลือดที่มีเชื้อ  การถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกขณะอยู่ในครรภ์ หรือผ่ายแมลงดูดเลือดที่เป็นภาหะซึ่งคาดว่ายุงและหมัดจะเป็นพาหะของเชื้อนี้   มักพบเชื้อนี้ในแมวที่ไม่แสดงอาการป่วย  จึงมีการสันนิษฐานว่าโรคนี้อาจเป็นโรคแทรกซ้อน หลังจากเกิดโรคที่ทำให้เกิดความเครียด    ถ้าไม่ทำการรักษาโรคนี้มีอัตราการเสียชีวิต 30%
*** ภาพประกอบจากหนังสือ โลหิตวิทยาทางสัตวแพทย์ สพ.ญ.ดร.เฉลียว ศาลากิจ

อาการ
  • ซึมและเบื่ออาหาร
  • เยื่อเมือกซีด หรือเหลือง
  • หายใจเร็วหรือหอบ
  • คลำท้องพบม้มขยายใหญ่

การวินิจฉัย
   ทำการตรวจเลือด
  • CBC : ดูค่า PCV, RBC และ Hb ซึ่งมักจะต่ำกว่าปกติ  และตรวจพบเชื้อ Hemobartonella feris อยู่บนผิวเม็ดเลือดแดง
  • Reticulocyte count : จะพบค่าเพิ่มขึ้นหลังจากมีการทำลายเม็ดเลือดแดง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4-6 วัน

 การรักษา
  • ในแมวที่โลหิตจาง ไม่ควรทำให้แมวเครียด  ควรให้อยู่ในที่สงบ
  • ให้เลือดแก่แมวที่ PCV ต่ำกว่า 15%
  •  ให้ยากลุ่ม Tetracyclines เช่น  Vibravet (ยาฆ่าเชื้อแบบก้างปลา)  และยากลุ่ม Fluoroquinolone เช่น Marbocyl ติดต่อกัน 28 วัน 
  • ให้ Prednisolone เพื่อป้องกันเม็ดเลือดแดงแตก และช่วยกระตุ้นการทำงานไขกระดูก และกระตุ้นความอยากอาหาร
  •  ให้ Glucose เข้าเส้นเลือดในแมวที่สุขภาพทรุดโทรมเพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  •  ให้สารอาหารบำรุงร่างกาย

การติดตามผล
  • ควรตรวจเลือดเช็ค PCV วันเว้นวัน หลังจากเริ่มทำการรักษา
ที่มาจาก : http://www.click2vet.com/ น.สพ.กิติกร เกียรติยิ่งอังศุลี

สุนัขและแมว กับเชื้อรา

เชื้อราชนิด dermatophyte ทำให้เกิดโรคในบริเวณที่มี keratin ได้แก่ ผิวหนังชั้นนอกสุด เส้นผมและเล็บ เกิดจากเชื้อ 3 genera คือ Trichophyton, Microsporum และ Epidermophyton ซึ่งอาศัยอยู่ในดิน คน และสัตว์
*** เชื้อราในสุนัขและแมวจะมีอาการ การรักษาที่เหมือนๆกันนะครับ  ขอกล่าวรวมๆ และขออภัยที่ภาพประกอบเป็นภาพแมวเนื่องจากเป็นภาพ จากกระทู้ในเว็บพันทิพที่หมอเคยทำไว้นานแล้วครับ
ลักษณะรอยโรคของเชื้อราคือ ขนร่วงเป็นวงๆ ตรงกลางวงจะไม่ค่อยมีขน ส่วนที่ขอบๆของรอยโรคจะพบว่าเส้นขนบริเวณขอบๆนั้นจะหลุดร่วงได้ง่าย ดู ลักษณะรอยโรคเชื้อราตามรูปนะครับ
ความสำคัญของโรคเชื้อราคือเป็น โรคสัตว์ติดต่อสูคน/Zoonosis   ดังนั้นเมื่อสงสัยว่าสัตวเลี้ยงเป็นเชื้อราพาไปหาหมอตรวจด่วนก่อนที่จะติดต่อไปยังสัตว์เลี้ยงตัวอื่นๆหรือเจ้าของ


การรักษาเชื้อรา
 *** เชื้อราเป็นโรคที่ต้องใช้เวลาในการรักษา อย่างน้อย 1-2 เดือน  ดังนั้นเจ้าของต้องมีความอดทนและวินัยในการรักษาอย่างต่อเนื่องระยะยาวนะครับ


  • ยากินฆ่าเชื้อรา  ออกฤทธิ์ได้ดี โดยเฉพาะกรณีเป็นเชื้อรากระจายทั่วตัว  (แต่ยาฆ่าเชื้อรามักมีผลข้างเคียงต่อตับ ดังในการให้ยาอยู่ที่ดุลพินิจของหมอ)
  • ยาทาภายนอก  มีหลากหลายกลุ่ม ทั้งตัวยา หรือกลุ่มสมุนไพร
  • แชมพูยา (หลังอาบน้ำต้องไดร์ขนให้แห้งเพื่อไม่ให้เชื้อราเจริญเติบโต)
  • การโกนขนเพื่อให้ทายาได้ง่ายขึ้น และไม่ให้ขนเป็นแหล่งเก็บกักสปอร์เชื้อรา
  • การหมั่นซักล้างทำความสะอาด บริเวณที่อยู่อาสัยของสัตว์เลี้ยง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเก็บกักสปอร์เชื้อรา
  • หากสัตว์เลียถึงควรใส่ Collar เพื่อป้องกันการเลียยา และป้องกันผิวหนังอักเสบและอับชื้นจากการเลีย

 ที่มาจาก : http://www.click2vet.com/ น.สพ.กิติกร เกียรติยิ่งอังศุลี

รับมืออย่างไรเมื่อแมวเป็นโรคช่องหูอักเสบ

อาการ
   ผนังของรูหูอักเสบแดง มีเลือดหรือหนอง มีกลิ่นเหม็น  เกา คัน สะบัดใบหู

สาเหตุ
- เกิดจากการติดเชื้อ เช่นแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อยีสต์ ไรในหู
- น้ำเข้าหูนานๆ โดยไม่เช็ดออก ---> หูอับชื้น/อักเสบ มีเชื้อต่างๆเข้ามาแทรกซ้อน
- อาการแพ้ หรือภูมิแพ้ บางอย่างก็ออกอาการที่หูได้เช่นกัน

การตรวจวินิฉัย
   ทำคล้ายๆกับการตรวจหาไรในหู คือใช้ไม้สำลีแคะหูเก็บตัวอย่าง และนำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ แต่ต่างกันตรงที่ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อยีสต์ มีขนาดเล็กมากและ ใสไม่มีสี ดังนั้นจึงต้องย้อมสีก่อน เพื่อเวลาส่องกล้องจะได้มองเห็น




การรักษา
   ขึ้นอยู่กับว่าเป็นเชื้อตัวไหน การรักษามีทั้งยากิน ยาฉีด ยาหยอดหู

*** กรณีที่เป็นเรื้อรัง รักษาไม่หายซักที อาจทำการเก็บตัวอย่างในรูหูไปเพาะเชื้อและทำการทดสอบหาความไวของยาด้วยก็ได้ จะได้จัดยาให้ตรงกับเชื้อ (การเป็นเรื้อรังรักษากันมานานๆ หรือเปลี่ยนคลินิกบ่อยๆ ได้ยาไม่ต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดการดื้อยาได้ จึงอาจต้องทำการทดสอบหาความไวของยา)

ดังนั้นการรักษาหูอักเสบโดยทั่วๆไปจะมีดังนี้ครับ
  1. รักษาที่สาเหตุ (ต้องตรวจให้รู้ก่อนว่าเกิดจากอะไร และรักษาให้ตรงกับสาเหตุ) เช่นการให้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่เกิดจากการติดเชื้อ, การหยอดหลังด้วย Revolution หรือ Advocate กรณีที่เกิดจากไรในหูเป็นต้น
    • การล้างทำความสะอาดช่องหู ด้วยผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดช่องหู
    • การหยอดยาหยอดหูเช่น ยาหยอดหู Dexoryl หรือ ยาหยอดหู Otomax หรือ ยาหยอดหู Aurizon
  2. บรรเทาตามอาการ เช่นเกาคันมาก อาจต้องให้ยาลดคันร่วมด้วย 
  3. การป้องกันการทำร้ายตัวเองโดยใส่ collar ป้องกันการเกา
  4. ป้องกันการติดต่อตัวอื่นๆ เช่นกรณีเป็นไรในหู
  5. ป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก
ที่มาจาก : http://www.click2vet.com/   น.สพ.กิติกร เกียรติยิ่งอังศุลี

แมวน้อยกับโรคไรในหู : Ear Mite

สาเหตุ
   เกิดจากการติดไรในหูที่มีชื้อว่า "Otodectes cynotis" หรือที่เราเรียกกันว่า "ear mite" มักชอบอยู่ในที่อับและมี ความชื้น





อาการ   เกาที่ใบหูหรือสะบัดหัวไปมา ถ้าดูภายในหูจะพบขี้หูที่มีลักษณะเป็นสีดำหรือสีน้ำตาลเข้มเป็นจำนวนมาก รวมทั้งอาจพบน้ำ และบางกรณีอาจมีการอักเสบของหู ร่วมด้วยทำให้แมวรู้สึกคันมากและแมวจะแสดงออกโดยการเกาหรือสะบัดหัวไปมา


การตรวจวินิจฉัย
   ทำได้โดยการใช้ไม้สำลีแคะหู(Cotton bud)เก็บตัวอย่างขี้หูไปส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูตัวไร

*** การพบขี้หูสีดำจำนวนมาก และวินิจฉัยว่าเป็นไรในหูนั้นไม่ใช่การวินิจฉัยที่ถูกต้อง เพราะมีปัญหาช่องหูอักเสบหลายอย่างที่ทำให้เกิดขี้หูสีดำปริมาณมากได้ ดังนั้นดีที่สุดคือเก็บตัวอย่างขี้หูไปส่องกล้องหาตัวไร ***


ข้อสังเกตุ
   ไรในหูจะอาศัยอยู่แต่ภายในรูหูเท่านั้น ในขณะที่ไรขี้เรื้อนแห้งก็จะอยู่ที่ผิวหนังใบหู ขอบหูแต่ไม่เข้าไปในรูหูเช่นกัน (แต่สัตว์บางตัวก็อาจจะเป็นทั้ง 2 อย่างพร้อมๆกันได้นะครับ)





การรีกษา
    1. ฉีดยา Ivermectin 300 ไมโครกรัม/กิโลกรัม  ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 2 ครั้ง  ห่างกัน 14 วัน
    2. หรือหยอดหลังด้วย Revolution หยอด 3 ครั้ง ห่างกันครั้งล่ะ 14 วัน
    3. หรือหยอดหลังด้วย Advocate ทุกๆเดือน
    4. การล้างทำความสะอาดช่องหู ด้วยผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดช่องหู
    5. การหยอดยาหยอดหูด้วยยาที่สามารถฆ่าตัวไรได้เช่น ยาหยอดหู Dexoryl
    6. ร่วมกับการรักษาบรรเทาตามอาการต่างๆ เช่นยาลดคัน, ยาปฏิชีวนะในรายที่มีการติดเชื้อในช่องหูแทรกซ้อน, การใส่ collar ป้องกันการเกา



ความสำคัญ
  • ไรในหูเป็นโรคที่สามารถติดต่อสัตว์อื่นได้  จึงควรแยกบริเวณจากสัตว์อื่นๆจนกว่าจะหายดี
  • ไรในหูเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้  แต่สามาถติดต่อกลับมาเป็นอีกได้เช่นกัน

ที่มาจาก : http://www.click2vet.com/   น.สพ.กิติกร เกียรติยิ่งอังศุลี

ยาคุมกำเนิดอันตรายสำหรับแมว

มดลูกอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุครับ  เช่นการติดเชื้อ (จากการผสม หรือหลังคลอด) , การฉีดยาคุมกำเนิด ,การเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

วันนี้จะพูดถึงการเกิดมดลูกอักเสบจากการฉีดยาคุมกำเนิดครับ   ตามธรรมชาติ  สัตว์สามารถเกิดมดลูกอักเสบขึ้นเองตามธรรมชาติได้เนื่องจากฮอร์โมนภายในร่างกายตัวเองครับ  (แต่กว่าจะเกิดขึ้นเองโดยมากใช้เวลานานหลายปีมากๆทีเดียว บางตัวแก่ตายเองก่อนด้วยซ้ำ)    แต่เมื่อสัตว์ถูกฉีดยาคุมเข้าไป  ยาคุมซึ่งมีฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนแต่มีความเข้มข้นสูงกว่ามาก  จึงเพิ่มโอกาสการเกิดมดลูกอักเสบมากกว่าการเกิดเองตามธรรมชาติหลายเท่า

เมื่อเกิดมดลูกอักเสบขึ้นมา  จากมดลูกเล็กๆ   ก็จะขยายใหญ่ขึ้นมา  ภายในเต็มไปด้วยเลือดและหนอง  ถ้าไม่ทำการผ่าตัดสุดท้ายสัตว์ก็จะเสียชีวิตในที่สุด   ส่วนกรณีที่ผ่ามาผ่าตัดช้าก็อาจจะช่วยชีวิตไว้ไม่ทันเนื่องจากอาการแทรกซ้อนต่างๆเช่นการติดเชื้อเข้ากระแสเลือด หรือภาวะไตวาย


รูปข้างล่างคือรูปมดลูกของแมวตัวที่ผ่าตัดเมื่อวาน  ปกติมดลูกแมวจะเล็กนิดเดียว  เท่าๆกันเส้นถั่วงอก   แต่มดลูกของแมวตัวเมื่อวานมดลูกใหญ่กว่าปกติ เกือบ 10 เท่าข้างในมีแต่หนอง     ลองนึกสภาพดูล่ะกันครับว่าแมวจะทรมาณขนาดไหน  
“ขอฝากไว้นะครับถ้ารักเค้าจริง  อย่าฉีดยาคุมให้เค้าเลยครับ”


การผ่าตัดมดลูกอักเสบ  มีความเสี่ยงสูงกว่าทำหมันมากๆครับ  และค่าใช้จ่ายก็แพงกว่ามากด้วย

ถ้าคุณคิดว่าฉีดยาคุมมันสะดวกกว่าและถูกกว่า  คุณคิดผิดแล้วครับ


ย้ำกันอีกที  "ถ้ารักเค้าจริง  อย่าฉีดยาคุมให้เค้าเลยครับ”







กระทู้นี้น่าสนใจที่มา :http://topicstock.pantip.com/jatujak/topicstock/2007/03/J5229909/J5229909.html
คนเขียนกระทู้นี้คือ : http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=kittyob
อ่านแล้วรู้สึกสะเทื้อนใจมาก อยากเอามาเผยแพร่ให้คนที่เลี้ยงแมวทราบ


 

พาราเซตามอลอันตรายที่ใกล้ตัว

พิษจากยา acetaminophen (ยาพาราเซตามอล)
acetaminophen (paracetamol : ยาพาราเซตามอล เป็นชื่อเรียกในประเทศอังกฤษ ออสเตรเลียและประเทศไทย) เป็นอนุพันธ์ของ para - amino- phenol จัดอยู่ในกลุ่ม NSAIDs ที่เรียกว่า aspirin like drugs มีฤทธิ์บรรเทาปวด ลดไข้ แต่ระงับการอักเสบได้เพียงเล็กน้อย ยานี้มีความปลอดภัยสูงเมื่อใช้ในคน  แต่อาจทำให้เกิดความเป็นพิษสูงเมื่อใช้ในสัตว์โดยเฉพาะสุนัขและแมว



ยาจะดูดซึมได้อย่างรวดเร็วในทางเดินอาหาร เมตาบอลิสมเกิดขึ้นที่ตับโดยขบวนการ  glucuronidation , sulfation และ oxidation  จากนั้นจึงถูกขจัดออกจากร่างกายทางปัสสาวะ
กลไกการเกิดพิษ
     ในคนและสัตว์เมตาบอลิสมของ  acetaminophen เกิดขึ้นที่ตับโดยอาศัย 3 วิถี
  • glucuronidation เป็นวิถีหลัก
  • รองลงมาคือ sulfation
  • และ oxidation ตามลำดับ
     ในวิถี glucuronidation และ sulfation นั้นจะไม่เกิดเมตาบอไลต์ที่เป็นพิษ  แต่ในวิถี oxidation  ที่ยาถูกเมตาบอลิสมโดย cytochrome P450 พบว่าสารเมตาบอไลต์ที่เป็นพิษคือ N - acetyl - p - benzoquinonamine (NAPQI) ซึ่งจะต้องรวมตัวกับ glutathione เพื่อเปลี่ยนเป็นสารไม่มีพิษคือ mercapturic acid และ cysteine แล้วขับออกทางปัสสาวะ
     ในกรณีที่สัตว์ได้รับยาขนาดสูงวิถี glucuronidation และ sulfation จะเกิดการอิ่มตัว ทำให้เกิดการทำงานของวิถี oxidation มากขึ้นกว่าปกติ ส่งผลให้มี NAPQI เพิ่มสูงขึ้น ร่างกายจำเป็นต้องใช้ glutathione มากขึ้นเพื่อเปลี่ยน NAPQI ให้เป็นสารที่ไม่มีพิษ



ในแมวซึ่งเป็นสัตว์ที่ไวต่อความเป็นพิษจาก acetaminophen มากนั้นพบว่ามีวิถี glucuronidation ต่ำ ทำให้วิถี sulfation ต้องทำงานมากจึงอิ่มตัวเร็ว  ส่งผลให้ต้องใช้วิถี oxidation มากขึ้นจนเกิด NAPQI เพิ่มขึ้นมากมาย   NAPQI ที่เกิดขึ้นมากมายนี้ไม่สามารถกำจัดได้ทัยท่วงทีเพราะแมวมีระดับ glutathione ต่ำ  ทำให้ไม่เพียงพอที่จะทำลายความเป็นพิษของ NAPQI ส่งผลให้ NAPQI เกิดการรวมตัวกับโปรตีนภายในเซลล์ เยื่อหุมเซลล์จึงถูกทำลายจากการเกิด lipid peroxidation โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เซลล์เม็ดเลือดแดงของแมวไวต่อการเกิดพิษมาก   โดย hemoglobin จะเปลี่ยนเป็น methemoglobin อันเป็นลักษณะเฉพาะของการเกิดความเป็นพิษในแมว   ผลของการมี  methemoglobin ในเลือดนี้จะทำให้เลือดมีความสามารถในการขนส่งออกซิเจนลดลง เนื้อเยื่อจึงจาดออกซิเจน   แต่ถ้าหากมี glutathione เพียงพอ methemoglobin จะถูก reduced เป็น hemoglobin ได้      สำหรับในสุนัขพบว่าเซลล์ตับถูกทำลายได้ง่ายจากความเป็นพิษของ acetaminophen
ขนาดของความเป็นพิษ
     แมวจะไวต่อการเกิดพิษโดยพบความเป็นพิษเมื่อให้กินในขนาด 50-100 mg/kg หรือบางกรณีอาจต่ำถึง 10 mg/kg  ส่วนในสุนัขจะเกิดความเป็นพิษเมื่อให้ขนาด 100 mg/kg ขึ้นไป

การวินิจฉัย
อาการทางคลินิก
  • แมวแสดงอาการซึม เยื่อเมือกคล้ำ(cyanosis) หายใจลำบาก บวมน้ำที่หน้าและผ่าเท้า อุณภูมิร่างกายต่ำ  อาขพบดีซ่านจากการแตกของเม็ดเลือดแดง อาการที่เกี่ยวกับตับเช่นอาเจียน เบืออาหาร ซึมจะเกิดเมื่อได้รับยาในขนาดสูง



  •   สุนัขจะแสดงอาการจากความเป็นพิษของตับได้แก่ อาเจียน เบื่ออาหาร ซึม หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว อาจปวดท้องและมีดีซ่าน ถ้าได้รับยาในขนาดสูงจะเกิด methemoglobin ได้เช่นเดียวกับแมว
  •   การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ
    • ตรวจพบ methemoglobin ในเลือด  พบ hemoglobin ในเลือดและในน้ำปัสสาวะ  พบภาวะโลหิตจาง                                                                                                                                                                  
    • ระดับ bilirubin และ alanine aminotransferase (ALT) สูงขึ้น  ค่าการแข็งตัวของเลือดเพเมขึ้น
  • รอยโรคทางพยาธิวทยา
    • ตับมีขนาดเล็กลงและมีสีคล้ำ  
    • ในสุนัขพบ centrilobular hepatic necrosis
    • ในแมวพบ diffuse hepatic necrosis

ภาพเปรียบเทียบการหยดเลือดปกติ(ด้านซ้าย)ลงบนกระดาษเพื่อเปรียบเทียบสีเทียบกับเลือดที่เกิด methemoglobin (ด้านขวา)
การรักษา
  1. ลดความเป็นพิษโดยการป้อน activated charcoal (ผงถ่านคาร์บอน) 1-4 g/kg  หรือล้างทม้อง  ซึ่งจะได้ผลดีหากกระทำภายใน 4 ชั่วโมงหลังการรับยา
  2. การรักษาพยุงชีพ ได้แก่ การให้ออกซิเจน การให้สารน้ำ     ***  ห้ามให้ corticosteroids และ antihistamines  ***
  3. ให้ vitamin C   30  mg/kg กินทุก 6 ชั่วโมงจะช่วยลด cyanosis โดย vitamin C จะเปลี่ยน methemoglobin ให้เป็น hemoglobin แต่ปฏิกิริยาจะเกิดช้ามาก
  4. ให้ methaionine ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของ glutathione และ sulfate   โดยขนาดยาที่ให้คือ 70 mg/kg  กินทุกๆ 6-8 ชั่วโมง  จนครบ 24 ชั่วโมง
  5. การให้ยาแก้พิษ
    • N - acetylcysteine เป็นยาแก้พิษที่จะช่วยเพิ่มระดับ glutathione ในเซลล์โดยมีฤทธิ์ 3 ประการคือ
      • N - acetylcysteine จะถูก hydrolyzed ในร่างกายได้ L- cysteine ซึ่งเป็น substrate ในการสร้าง glutathaione ในเม็ดเลือดแดงและตับ
      • N - acetylcysteine เข้าจับกับ NAPQI โดยตรงเกิดเป็นสารประกอบที่ไม่เป็นพิษ และถูกขับทิ้งจากร่างกาย
      • N - acetylcysteine  ถูก oxidized ในตับเกิดเป็นซัลเฟตทำให้เพิ่มวิถี silfation 
    • การให้สารละลาย sodium sulfate ในกรณีที่ไม่มี N - acetylcysteine โดยใช้ sodium sulfate เข้มข้น 1.6% ขนาด 50 mg/kg ฉีดเข้าหลอดเลือดดำทุก 4 ชั่วโมง รวม 6 ครั้ง เป็นอีกทางเลือกนึง
***  การใช้ N - acetylcysteine เพิ้อแก้พิษอาจใช้ที่มีความเข้มข้น 10% หรือ 20% ในขนาดเริ่มต้น 140 mg/kg  ป้อนให้กินหรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำ จากนั้นให้ยาทุก 6 ขั่วโมงโดยลดขนาดของยาลงมาที่ 70 mg/kg ให้ยาจนครบ 5-7 ครั้ง
(หากมีการป้อน activated charcoal  ไปแล้วต้องรอประมาณ 2 ชั่วโมงจึงจะให้กิน N - acetylcysteine เพราะ activated charcoal  จะยับยั้งฤทธิ์ของ  N - acetylcysteine



ที่มาจาก :http://www.click2vet.com